วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รวมคำกลอนหลวงปู่เปลื้อง ปัญญวันโต (ฉบับสมบูรณ์) ๖


วิชาประวัติปฏิบัติธรรม
   
หลักวิชา  ประวัติ  ปฏิบัติธรรม      เคยจดจำ  เอาไว้  ไม่ขัดขวาง
ผู้ที่รู้  ไม่เพ่งดู  ไม่พบทาง            ไม่ละวาง  ไม่ฝึกจิต  ปิดทางเดิน
มัวแต่หลง  ด้วยลาภยศ  ปรากฏชัด         เป็นสมบัติ  ที่คนเขลา  เขาสรรเสริญ
บำเพ็ญบุญ  เที่ยวให้พร  สอนผู้อื่น         จิตชุ่มชื่น  สุขสบาย  เป็นนายตน
ผู้ตอบได้  ทำได้  นั้นไม่ผิด            เหตุที่ผิด  ไม่ค้นคว้า  หาเหตุผล
พอรู้มาก  จิตใจคึก  ไม่ฝึกตน            เพราะจิตจน  ถึงอยากได้  ไม่หายเมา
เขาเป็นกรรม  เรียนรู้ธรรม  ไม่ปฏิบัติ         ยังข้องขัด  จึงยากจน  เป็นคนเขลา
ไม่ชิมดู  ก็ไม่รู้  ว่าหวานเมา            เช่นสำเภา  ทุกเงินทอง  ไม่ต้องการ

รสพระธรรม  ใครชิมลอง  นั้นต้องติด         เข้าถึงจิต  ย่อมผูกพัน  ทั้งมันหวาน
กามคุณห้า  ไม่มีรส  หมดรำคาญ         จิตชื่นบาน  อยู่ในธรรม  พระสัมมา
บำเพ็ญธรรม  เข้าถึงธรรม  ประจำจิต         อันญาติมิตร  เงินทอง  ไม่ต้องหา
ไม่ต้องจน  ได้รับผล  เห็นทันตา         ท่านศรัทธา  ย่อมเจริญ  เชิญชิมลอง
ยาระบาย  เป็นยาถ่าย  ที่ศักดิ์สิทธิ์         ยาดับพิษ  ภายใน  ใจผุดผ่อง
ถ่ายอวิชชา  ตัวศัตรู  อยู่ในท้อง         ตัวเศร้าหมอง  กั้นกาง  หนทางมรรค
คนเป็นโรค  เขากลัวยา  น่าสงสาร         ทรมาน  น้ำตาตก  จนอกหัก
กิเลสกับธรรม  เป็นศัตรู  คู่ปฏิปักษ์         ท่านที่รัก  ทุกคน  ควรสนใจ

ยาทำลาย  ศัตรู  มีอยู่แล้ว            ดื่มหนึ่งแก้ว  ยังดีกว่า  หาภพใหม่
รู้รสธรรม แม้จะหลง  คงไม่ไกล         รีบปลุกใจ  เมื่อไม่ตาย  ให้เข้าทาง
ทางมรรคนี้  พระท่านชี้  เอาไว้ตรง         อย่ามัวหลง  เดินสบาย  ไม่ต้องถาง
เรื่องหนาคืบ  ยาววา  ทำให้ตาฟาง         หลงด้วยร่าง  สากล  ของคนเป็น
รู้เรียนธรรม  จำได้คล่อง  ท่องได้จบ         เหมือนนักรบ  ถือศาสตรา  ตาไม่เห็น
ผู้มีทรัพย์  อยู่มากมาย  ไม่บำเพ็ญ         เมื่อยามเป็น  ไม่เลื่อมใส  ในผลทาน
ถ้าเป็นพระ  ไม่ศรัทธา  การปฏิบัติ         ให้ข้องขัด  ในการทำ  พระกรรมฐาน
เป็นฆราวาส  ยามสบาย  ไม่ทำงาน         มัวเกียจคร้าน  นอนเหมือนแมว  ไม่แคล้วจน
เป็นสมณะ  ภายใน  จิตใจสูง            ดุจนกยูง  มยุรา  รักษาขน
ธรรมหิริ  โอตัปปะ  ของพระทศพล         รักษาตน  สมณะ  สง่างาม

เป็นนาบุญ  ช่วยค้ำจุน  พระศาสนา         ผู้ศรัทธา  ก็เลื่อมใส  ไตรทั้งสาม
นาที่ดี  ไม่มีหญ้า  สง่างาม            ยังมีน้ำ  เลี้ยงรักษา  สถาพร
ดินคู่ฟ้า  ข้าคู่เจ้า  ข้าวคู่น้ำ            เป็นเนื้อความ  ข้อธรรม  นำมาสอน
ดินขาดฝน  ไม่เกิดผล  อย่างแน่นอน         ข้าขาดเจ้า  ย่อมเดือดร้อน  ดุจเดียวกัน
พระศาสดา  ตรัสว่าหญ้า  ทำลายผล         นาขาดฝน  อันตราย  กลายเป็นหมัน
ความยินดี  ยินร้าย  ทำลายพันธุ์         เมื่อทานนั้น  เศร้าหมอง  ต้องชดเชย
ผู้ที่รู้  นึกเอ็นดู  พูดไม่ได้            เพราะอันตราย  ไม่กล้านำ  ทนทำเฉย
ไฟมีมาก  น้ำมีน้อย  ปล่อยตามเลย         ถ้าเปิดเผย  น้ำก็แห้ง  ด้วยแรงไฟ

ดูวินัย  มาดูพระ  น่าสลด            ลูกตถาคต  แบบทุกวัน  ทันสมัย
โลกเจริญ  พระเจริญ  ตามกันไป         ธรรมวินัย  เขาก็รู้  อยู่ทั่วกัน
ผู้เรียนรู้  มาเป็นครู  มีอยู่มาก         สอนแต่ปาก  ใจไม่รู้  ดูน่าขัน
เรียนให้รู้  ได้เป็นครู  สอนเพื่อนกัน         เพื่อสืบพันธุ์  พุทธพจน์  ทศพล
เรียนไปหน้า  เดินไปหลัง  เพื่อหวังลาภ         ไม่กลัวบาป  อันตราย  จะให้ผล
ปฏิญาณตัว  เป็นลูก  พระทศพล         ไม่ปฏิบัติตน  ตามสัจจะ  ทมะธรรม
อะเปโตทมะ  สัจเจนะ  คำพระตรัส         ผ้ากาสาวพัสตร์  ชูชุบ  อุปถัมภ์
เป็นผ้าธง  ที่เชิดชู  คู่ศีลธรรม          ช่วยอุปถัมภ์  รักษาไว้  ให้ถาวร

ผู้เรียนธรรม  รู้เรื่องธรรม  นำมาเทศน์         ย่อมวิเศษ  กับผู้ฟัง  ท่านทั้งหลาย
ผู้ปฏิบัติธรรม  สอนให้จำ  คำบรรยาย         ท่านทั้งหลาย  ทุกคน  ไม่สนใจ
ชอบแต่ฟัง  ไม่ชอบทำ  ตรงกันข้าม         ชอบแต่น้ำ  ไม่ชอบเนื้อ  เหลือวิสัย
อยากแต่รู้  ไม่อยากดู  ให้ถึงใจ         ถึงสมัย  ประสบโชค  โลกเจริญ
โลกเจริญ  ข้างฝ่ายธรรม  ย่อมต่ำต้อย      จิตล่องลอย  ไหลไปตาม  ความสรรเสริญ
เขามีความ  สนุก  สุขเจริญ            หลงเพลิดเพลิน  ด้วยกล  คนทุกวัน
สมัยนี้  เขาเพลิดเพลิน  เจริญเพลง         เครื่องบรรเลง  รุ่งเรือง  ดังเมืองสวรรค์
ทั้งคฤหัสถ์  บรรพชิต  ยอมติดพัน         เสียงสนั่น  ลั่นรัว  ไปทั่วเมือง
สมณะเรา  เป็นพระ  ไม่ควรหลง         ครองผ้าธง  ชาวโลกไหว้  อายผ้าเหลือง
ของมีค่า  ยิ่งไปกว่า  ค่าควรเมือง         ความรุ่งเรือง  ศาสนา  ชั่วฟ้าดิน

เครื่องบรรเลง  เป็นศัตรู  คู่กับธรรม         เราผู้นำ  เป็นพระสงฆ์  ผู้ทรงศีล
ปฏิบัติตรง  ไม่ควรหลง  ด้วยเพลงพิณ         เป็นมลทิน  ให้เหิมฮึก  คึกคะนอง
ผู้ทรงธรรม  เป็นผู้นำ  ของชาวโลก         ถ้าย้ายโยก  ดิ่งไม่ตรง  คงเศร้าหมอง
เป็นพระสงฆ์  ปฏิบัติตรง  ไปตามคลอง      เป็นพระทอง  เขาบูชา  เนื้อนาบุญ
พระมีนา  ผู้ศรัทธา  ก็มีพืช            เกิดผลยืด  จุนเจือ  ช่วยเกื้อหนุน
ไม่มีนา  เหมือนพ่อค้า  ที่ขาดทุน         มีนาบุญ  ไม่มีพืช  ย่อมมืดมน
แต่นาบุญ  นาบาป  ทราบได้ยาก         คนส่วนมาก  เขาไม่รู้  ดูเหตุผล
ถูกนาบาป  มีหญ้าขึ้น  อยู่ปะปน         ทำลายผล  ผู้ศรัทธา  น่าเสียดาย
เขาทำบุญ  ลงทุนค้า  หากำไร         หว่านพืชไป  ถูกที่หญ้า  น่าใจหาย
คนใจบาป  ถ้าไม่ทราบ  อันตราย         ฉันสบาย  ลืมตัว  ไม่กลัวภัย
บาปกับบุญ  มิใช่ตน  ให้ผลยิ่ง         เป็นของจริง  ทุกยุค  ทุกสมัย
ผลของบาป  ย่อมเกิดทุกข์  ลุกเป็นไฟ          ผลของบุญ  ย่อมสุกใส  ใจชื่นบาน

บุญชั้นยอด  บาปชั้นยอด  กอดเป็นคู่         ถ้าไม่รู้  ยังมัวเมา  ต้องเผาผลาญ
นิสัยดี  จิตเป็นทุน  ค้ำจุนทาน         นิสัยชั่ว  เป็นอันธพาล  ประหารตน
ต้องฝึกหัด  ดัดนิสัย  ใจอยากได้         ความยินดี  ยินร้าย  ทำลายผล
หญ้าพื้นดิน  ยังดีกว่า  หญ้าในคน         ยังเกิดผล  กับผู้รู้  อยู่มากมาย
หญ้าในคน  ทำลายผล   ของความสุข         เกิดแต่ทุกข์  ตลอดชาติ  ไม่ขาดสาย
ถ้าเป็นพระ  เมื่อไม่ยอมละ  ก็ยิ่งร้าย         ต้องอันตราย  เศร้าหมอง  สองกระทง

ตั้งสัจจะ  ว่าเป็นลูก  ตถาคต            วันอุปสมบท   บรรพชา  ต่อหน้าสงฆ์
จะทำตาม  พุทธบัญญัติ  ปฏิบัติตรง         ครองผ้าธง  บริกรรม  พระธรรมวินัย
เที่ยวบิณฑบาต  เลี้ยงท้อง  ครองผ้าเหลือง      ถ้าหลอกลวง  ชาวเมือง  เป็นเรื่องใหญ่
ต้องวิบัติ  สร้างกรรมชั่ว  ติดตัวไป         ไม่ปลอดภัย  บรรพชิต  ผิดหนทาง
พระศาสนา  บริษัทสี่  นั้นมีสิทธิ์         ถ้าใครผิด  เอ็นดูด้วย  ช่วยสะสาง
ช่วยค้ำจุน  ศาสนา  อย่าละวาง         โลกสว่าง  รุ่งเรือง  ในเมืองทอง
ศาสนา  อยู่ได้ยืด  เพราะสืบพันธุ์         เดือนตะวัน  มีอยู่  เป็นคู่สอง
บุญกับทาน  มีอยู่  เป็นคู่ครอง         เงินกับทอง  จะมีจน  เพราะผลทาน
ขออภัย  ผู้ฟัง  ท่านทั้งหลาย            คำบรรยาย  มีคารม  ทั้งขมหวาน
เมื่อฟังแล้ว  จงใช้  วิจารณญาณ         เป็นความจริง  ทุกประการ  แหละท่านเอย

วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ
การเลือกให้พระสุคตทรงสรรเสริญ
   
การเลือกให้  พระพุทธองค์  ทรงสรรเสริญ   ความเจริญ  มีมากหลาย  ไม่ต้องถาม
เมื่อตรวจดู  รู้ด้วยจิต  ควรติดตาม         เพียรพยายาม  เพียงกราบไหว้  ยังได้บุญ
ของหายาก  ไม่มีมาก  จึงมีค่า         ผู้ศรัทธา  คอยต้อนรับ  เพื่อสนับสนุน
สิ่งที่ประเสริฐ  เลิศอนันต์  นั้นคือบุญ         เครื่องค้ำจุน  จิตใจ  ภายในกาย
เนื้อนาบุญ  ค้ำจุน  พระศาสนา         มีหิริ  โอตัปปะ  เป็นเครื่องหมาย
ผู้ศรัทธา  ควรพิจารณา  ให้แยบคาย         ยากกับง่าย  ถูกกับผิด  อยู่ติดกัน
การเลือกให้  พระตรัสไว้  เป็นภาษิต         เรื่องน่าคิด  เมื่อเลือกได้  ไม่เป็นหมัน
ท่านเมตตา  ผู้บริจาคทาน  หว่านพืชพันธุ์      ผู้เชื่อมั่น  จิตศรัทธา  ต่อนาบุญ

การเลือกพระ  ใช้ปัญญา  เพ่งพินิจ         ผู้ฝึกจิต  ตามพุทธพจน์  หมดความหมุน
จิตประเสริฐ  เกิดความคลาย  เป็นนายทุน      เนื้อนาบุญ  พระบรมครู  อยู่ที่จิตใจ
ท่านให้เลือก  ของมีเปลือก  อย่าเชื่อตา      ควรพิจารณา  เสียให้สิ้น  ความสงสัย
การทำบุญ  ลงทุนค้า  หากำไร         หว่านพืชไป  เพื่อหวังบุญ  ค้ำจุนตน
การทำบุญ  ให้ทาน  เป็นยาทา         ผู้ปรารถนา  ที่จะสร้าง  ทางมรรคผล
น้อมธรรมะ  มาปฏิบัติ  ฝึกหัดตน         เป็นมงคล  ทุกประการ  แหละท่านเอย


เลือกนาบุญ  ฝึกพระธรรม  ค้ำจุนศาสน์
   
การเลือกให้  พระตรัสไว้  เป็นภาษิต      จะมองดูจิต  ด้วยตาเนื้อ  เหลือวิสัย
เห็นด้วยตา  รู้ด้วยจิต  ผิดกันไกล         นอกกับใน  เหตุผลไป  คนละทิศ
สมณะ  พระภายใน  ไม่มีใครรู้         เมื่อตรวจดู  ตามพุทธ  ภาษิต
ผู้แสวงหา  พระทอง  เรื่องของจิต         ท่านบัณฑิต  ปฏิบัติตรง  ทรงศีลา
สมัยนี้  ผู้ปฏิบัติตรง  คงหายาก         ตรงแต่ปาก  จิตไม่ตรง  ทรงสิกขา
บรรพชิต  จิตคด  หมดราคา            ผู้ไม่เชื่อ  พระพุทธศาสนา  น่าเอ็นดู(น่าสงสาร)
ผู้บวชเป็น  นาบุญ  ค้ำจุนศาสน์         ไม่ประมาท  เพียรปฏิบัติ  ทั้งขัดทั้งถู
เดินตามพระ  โคดม  บรมครู            เพียรเพ่ง  พินิจอยู่  ดูในกาย

โรคนิวรณ์  กามฉันท์  เครื่องกั้นจิต         เมื่อเพียรเพ่ง  พินิจอยู่  แล้วกลับหาย
เมื่อหมดความ  ปกปิด  จิตสบาย         ผู้จิตคลาย  เขาบูชา  เป็นนาบุญ
นาเช่นนี้  พระท่านชี้  ให้โยมเลือก         ดูแต่เปลือก  ไม่รู้เรื่อง  ให้เคืองขุ่น
ถ้าเลือกได้  แล้วตักบาตร  ไม่ขาดทุน         เป็นนาบุญ  พระพุทธองค์  ทรงรับรอง
ผู้จิตคลาย  อย่าว่าง่าย  หาได้ยาก         ดับความอยาก  จิตคงที่  ไม่มีสอง
จิตผ่องแผ้ว  จิตเป็นแก้ว  หรือเป็นทอง         ชนยกย่อง  เชิดชู  เขาบูชา

การบวชสืบ  ประเพณี  นี้ไม่ยาก         มีอยู่มาก  ทางพระ  พุทธศาสนา
ผู้ที่มี  นิสัย  ใจศรัทธา            บวชเพ่ง  พิจารณา  หาหนทาง
เอาสัจจะ  ทมะ  รักษาจิต            เมื่อมีฤทธิ์  มีตะบะ  แล้วสะสาง
สัจจธรรม  ช่วยชักนำ  ให้เข้าทาง         จิตสว่าง  คงที่  ดำริตรง
เพราะพระธรรม  เป็นผู้นำ  ที่ศักดิ์สิทธิ์         ย่อมฝึกจิต  ให้ได้ตาม  ความประสงค์
จิตที่คด  พุทธพจน์  ดัดให้ตรง         คำสั่งสอน  พระพุทธองค์  เป็นธงชัย

คำสั่งสอน  เป็นสารถี  ที่ยอดยิ่ง         ฝึกได้จริง  ทุกยุค  ทุกสมัย
ไม่ได้  กำจัดกาล  เวลาใด            ย่อมจูงใจ  ผู้ศรัทธา  ทั่วหน้ากัน
ผู้ไม่เชื่อ  ส่วนมาก  ไม่อยากฝึก         เขาบันทึก  ปล่อยไว้  ให้เป็นหมัน
ที่เกิดมา  แสนอาภัพ  นับอนันต์         ผู้เชื่อมั่น  หาได้ยาก  ไม่มากเลย
แม้เขาประกาศ  ให้รู้  อยู่เป็นนิจ         ไม่ปกปิด  ชี้ทาง  อย่างเปิดเผย
รู้ทั้งนั้น  แต่ยังดัน  เข้าป่าเตย         พุทโธ่เอ๋ย  น่าสมเพช  กิเลสคน
จิตตกต่ำ  เขาเป็นกรรม  ไม่ยอมเชื่อ         จิตที่เบื่อ  เขาไม่สร้าง  ทางกุศล
กิเลสกรรม  จงชักนำ  ให้เวียนวน         ต้องมืดมน  ตลอดชาติ  พลาดหนทาง

เป็นมนุษย์  เดินทางผิด  จิตเศร้าหมอง         เหมือนแมลงป่อง  อวดรู้  ชูแต่หาง
สำแดงเดช  เดชา  แต่ตาฟาง            ต้องอัปปาง  ทับถม  จมแผ่นดิน
ตัวทิฏฐิ  มานะ  สละยาก            เมื่อรู้มาก  เก็บไว้  กลายเป็นหิน
มีอาหาร  อยู่มากหลาย  แต่ไม่กิน         มีทรัพย์สิน  เงินทอง  ยังต้องจน
เรียนรู้ธรรม  แต่ไม่นำ  มาสอนจิต         เมื่อไม่เพ่ง  พินิจ  ก็ไม่ได้ผล
ผู้ไม่ประมาท  ตามโอวาท  พระทศพล         เจอของดี  ภายในตน  ทุกคนเอย

   
บรรดา      บัณฑิต         จิตไม่ตกต่ำ
   
ผู้ใด      กล่าวเป็นธรรม      ผู้นั้นเป็นบัณฑิต
แม่ชีใบ้
กิจวัตร   แม่ชีใบ้               กวาดใบไม้   เก็บขี้หมา
เมื่อว่างงาน   นั่งหลับตา         เพ่งพิจารณา   ภายในกาย
กิจวัตร   เป็นยาทา            เพ่งพิจารณา   เป็นยาถ่าย
บวชฝึกตน   เป็นคนใบ้         กิเลสคลาย   เพราะความทน
คนพูดได้      แต่ไม่พูด            ไม่พิสูจน์      ก็ไม่รู้ผล
เป็นนักพรต   ไม่อดทน            ไม่เพ่งดู    ภายในตน   ไม่เห็นธรรม


รสความอิ่ม(ธรรม)
รสความอิ่ม      ไม่มีสนิม         มีความสุข(ไม่มีกิเลส)
เมื่อไม่ทุกข์      ไม่ร้อนท้อง      ไม่ต้องถ่าย
รสความอยาก      กิเลสลาก         จนวันตาย
จิตไม่คลาย      ไม่ประสบ      พบหนทาง


บวชเป็นสมณะต้องสละเงินทอง  
บวชเป็นสมณะต้องสละเงินทอง      วัตถุที่เป็นพิษทำให้จิตเศร้าหมอง
ทรัพย์สินเงินทองเป็นของคู่กาม         บวชตัดความอยากก็ไม่มีขวากหนาม
สมณะชีพราหมณ์เดินตามพุทธพจน์         วาจาผู้นำเป็นธรรมโอสถ
เดินตามพระตถาคตย่อมรู้รสพระธรรม         เป็นพระเป็นชียังมีผู้อุปถัมภ์
จิตไม่ตกต่ำพระธรรมคุ้มครอง         เพียรเพ่งอยู่เป็นนิจ จิตก็ไม่เศร้าหมอง
เมื่อจิตผุดผ่องมองเห็นร่างกาย         จิตเห็นอยู่ภายในถึงใครๆ ก็เบื่อหน่าย
ร่างผู้หญิงผู้ชายกลายเป็นของอนัตตา         นึกถึงภพนึกถึงชาติไม่อยากปรารถนา
สัตว์โลกเกิดมาปรารถนาสืบพันธุ์         นิวรณ์บังคับนอนหลับก็ยังฝัน
รู้รสหวานมันผูกพันจิตใจ            เห็นรูปเห็นนามเกิดความสงสัย
กิเลสห่อจิตใจไฟไม่รู้จักดับ            เผาวันเผาคืนเผาทั้งตื่นทั้งหลับ
เหมือนนกติดกับ ชีวิตดับมรณา         ไฟไม่รู้จักร้อนนอนไม่รู้จักเบื่อ
เผาอยู่ทุกเมื่อผู้ไม่เชื่อพระศาสนา         ไฟไม่มีควันเผาทุกวันเวลา
ไฟกิเลสตัณหาไม่พิจารณาก็ไม่เห็น         ไฟไม่มีเงาไฟเผาคนเป็น
ไม่ร้อนแต่ไม่เย็นมองไม่เห็นด้วยตา         ก่อไฟเผาตนปากก็บ่นว่าร้อน
รู้ธรรมคำสั่งสอนแต่ไม่ยอมรักษา         นึกน่าสมเพชไฟกิเลสบังตา
หลงอยู่ในป่าช้าเป็นเวลานมนาน         รักตัวกลัวจะผอมแต่ไม่ยอมกินยา
แสนเศร้าโศกโศกาก็นึกน่าสงสาร         โอสถพระบรมครูน้อยผู้รับประทาน
ฝึกจิตเป็นทหารต้องมีการอดทน         นักรบกับกิเลสผู้วิเศษทางธรรม
เพียงลูบๆ คลำๆ ทำก็ไม่ได้ผล         พูดจริงทำจริงเพ่งดิ่งอยู่ในตน
มองเห็นร่างของคนเป็นภาพยนตร์หลอกลวง      รู้แจ้งเห็นจริงร่างผู้หญิงผู้ชาย
จิตเกิดความคลายหมดความรักความห่วง      จิตใจผุดผ่องไม่มีของหลอกลวง
วัตถุทั้งปวดกลายเป็นของธรรมดา         อริยทรัพย์อยู่ในคนเมื่อไม่ค้นก็ไม่พบ
เมื่อไม่เป็นนักรบก็เป็นคนอนาถา         ฆ่ากิเลสภายใน  ทรัพย์ก็ไหลออกมา
ญาติโยมศรัทธาสมปรารถนาทุกประการ      ทรัพย์สินภายนอกกลับกลอกเหมือนกับลิง
ชาวโลกแย่งชิงก็นึกน่าสงสาร            เกิดทรัพย์ภายในจิตใจชื่นบาน
เจอะของดีรับประทานสำราญรมย์         ไม่มีแต่ไม่จน อดทนไม่ประมาท
บิณฑบาตรับอาหารทั้งหวานทั้งขม         ความสรรเสริญนินทาทั้งด่าทั้งชม
เป็นอารมณ์เศร้าหมองทั้งสองทาง         ของชั่วของดียังมีอยู่ในวัฏ
แต่ผู้ปฏิบัติไม่ขัดขวาง            มีจิตเมตตาไม่หนาไม่บาง
อยากจะชี้หนทางให้ท่านฝึกตน         สิ่งที่แนะนำเคยทำมาแล้ว
เมื่อจิตผ่องแผ้วก็ได้รับผล            บำเพ็ญความดีให้หมดมีหมดจน
เชิญมาปฏิบัติฝึกตนทุกคนเทอญ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

โปรดแสดงความคิดเห็นด้วยเมตตาธรรม

บทความที่ได้รับความนิยม