วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รวมคำกลอนหลวงปู่เปลื้อง ปัญญวันโต (ฉบับสมบูรณ์) ๕


เส้นผมบังภูเขา
   
เชิญอ่านชม  เรื่องเส้นผม  บังภูเขา      กิเลสเรา  อยู่ภายใน  ใครไม่เห็น
ภาษิตธรรม  นำมาสอน  ตอนยังเป็น         ใครอยากเห็น  เมื่อศรัทธา  มาทดลอง
ความไม่ประมาท  โอวาท  ครั้งสุดท้าย         ธรรมทั้งหลาย  พร้อมอาการ  สามสิบสอง
อย่าประมาท  มองให้ลึก  ตรึกแล้วตรอง      เห็นถูกต้อง  รู้เรื่องติด  จิตจึงคลาย
เพ่งประจำ  ธรรมปรากฏ  หมดความอยาก       ทำให้มาก  เกิดความเชื่อ  ย่อมเบื่อหน่าย
หมั่นเพียรเพ่ง  อยู่เป็นนิจ  จิตเป็นนาย         เมื่อจิตคลาย  ประสบสุข  ทุกประการ
รสพระธรรม  ชนะรส  หมดทั้งโลก          ตัดความโศก  ดับความอยาก  หมดรากฐาน
ผู้ฝึกจิต  ให้เป็นพระ  ต้องชนะมาร         รสมันหวาน  รู้ด้วยตน  ทุกคนเอย

   
เชิญอ่านชม  เรื่องเส้นผม  บังภูเขา      ร่างของเรา  ทั้งที่รู้  ดูไม่เห็น
ภาษิตธรรม  นำมาสอน  ตอนยังเป็น         ใครอยากเห็น  เชิญปฏิบัติ   ฝึกหัดตน
ผู้เขียนข้อ  แนะนำ  ทำมาแล้ว         จิตผ่องแผ้ว  ทั้งตื่นหลับ  ได้รับผล
พุทธโอวาท  ประกาศไว้  ให้ฝึกตน         เป็นมงคล  ทั้งหญิงชาย  ใฝ่ความดี
บาปกับบุญ  มิใช่ตน  ยลด้วยตา         แต่ฤทธา  มีอำนาจ  เหมือนธาตุสี่
เรื่องเหตุผล  ที่ตนทำ  จำได้ดี            ย่อมเกิดมี  ทุกประการ  ไม่ลำเค็ญ
พระบรมครู  ให้เพ่งดู  ภายในร่าง         ผิวหนังบาง  ร่างกายใน  ใครไม่เห็น
รูปการ์ตูน  ภายในตน  ของคนเป็น         พระท่านเห็น  ประกาศไว้  ให้เราชม

มีหลักฐาน  พร้อมอาการ  สามสิบสอง         ท่านให้มอง  ทั้งตัวตน  ทั้งขนผม
เมื่อเพียรเพ่ง  อยู่เป็นนิจ  จิตชื่นชม         ดับอารมณ์  นึกสมเพช เกิดเมตตา(ดับอารมณ์รัก-ชัง)
พุทธวาจา  ผู้ประเสริฐ  เกิดในโลก         เรามีโชค  กันทุกคน  รีบค้นหา
เป็นคำสอน  ที่ประเสริฐ  เลิศโลกา         ทั้งมนุษย์  เทวดา  บูชากัน
เป็นโชคดี  ผู้บำเพ็ญ  เป็นมนุษย์         พวกชาวพุทธ  เราทั้งหลาย  ไม่เป็นหมัน
เจอะคำสอน  พระบรมครู  ในปัจจุบัน         สืบพืชพันธุ์  ศาสนา  ให้ถาวร
มนุษย์จริง  เจอะของจริง  ยิ่งประเสริฐ         ไม่ละเมิด  ต่อพระธรรม  คำสั่งสอน
รักษาความ  ไม่ประมาท  ไม่ขาดตอน         เพ่งถอดถอน  ดับกองไฟ  ภายในตน
เมื่อดับไฟ  แสนสบาย  กลายเป็นสุข         ปราศจากทุกข์  พุทธโอวาท  ประกาศผล
เมื่อจิตคลาย  เรารู้ได้  เฉพาะตน         ผู้ศรัทธา  ท่านทุกคน  ควรสนใจ
อย่าประมาท  รีบปฏิบัติ  ฝึกหัดจิต         เพียรเพ่งพินิจ  เสียให้สิ้น  ความสงสัย
เจอะของจริง  ทิ้งของปลอม  ย้อมจิตใจ      จิตผ่องใส  ธรรมปรากฏ  หมดความเมา

หนึ่งเมานอน  สองเมากาม  สามเมาทรัพย์      ถูกบังคับ  ต้องทำตาม  เพราะความเขลา
นึกระอา  น่าสมเพช  กิเลสเรา         หลงความเมา  ต้องตกตม  กันนมนาน
ความโง่เขลา  ปรุงของเมา  เผาดวงจิต         ปรุงยาพิษ  แล้วย้อมสี  มีรสหวาน
ผู้เชื่อพระ  แม้ร่างผอม  ไม่ยอมทาน         จิตเป็นมาร  กลับเป็นพระ  ชนะตน
เป็นชาวพุทธ  ไม่เชื่อพระ  น่าสงสาร         พระกับมาร  ชั่วกับดี  มีเหตุผล
ผู้ทานยา  ธรรมโอสถ  พระทศพล         เป็นนักพรต  หมดความจน  คนบูชา
หมดความมี  หมดความจน  จึงพ้นทุกข์      เจอะความสุข  ทางพระ  พุทธศาสนา
พระสวยงาม  เพราะขันติ  มีเมตตา         เมื่อญาติโยม  เขาศรัทธา  เป็นนาบุญ
นาที่ดี  เพราะดินดี  มีเครื่องวัด         คุณสมบัติ  อริยทรัพย์  สนับสนุน
อย่าประมาท  การตักบาตร  ไม่ขาดทุน         เพราะนาบุญ  หาได้ยาก  ไม่มากเลย
วิเจยยะทานัง  พระตรัสสั่ง  ให้เราเลือก         ของมีเปลือก  ท่านตรัสไว้  ไม่เปิดเผย
อาศัยผู้  ติดตาม  ความคุ้นเคย         ถ้าละเลย  ตกเป็นกรรม  จำต้องจน

การทำบุญ  ลงทุนค้า  หากำไร         หว่านพืชไป  แต่ละครั้ง  เพื่อหวังผล
นาที่ดี  ไม่มีหญ้า  อยู่ปะปน            มองแต่คน  ไม่มองจิต  ผิดวินัย
ผู้ฉลาด  เลือกให้ทาน  ท่านสรรเสริญ         จิตเพลิดเพลิน  จิตไม่เกิด  ความสงสัย
การเลือกให้  ของที่ดี  ไม่มีภัย         ตามนิสัย  ของนักพรต  หมดราคิน
ท่านผู้ดี  นิสัยดี  มีเครื่องวัด            รู้ให้ชัด  ผู้วิจิตร  ไม่ผิดศีล
ลูกของพระ  ตถาคต  หมดมลทิน         ผู้ทรงศีล  ปฏิบัติ  ตัดทางตรง
ผู้ศรัทธา  ชาวพุทธ  เป็นมนุษย์ฉลาด         ตรึกโอวาท  ให้แยบคาย  จะไม่หลง
เพราะนักพรต  ผู้ปฏิบัติ  ตัดทางตรง         ครองผ้าธง  บริกรรม  พระธรรมวินัย
ถือธุดงค์  จิตมั่นคง  ด้วยความสัจจ์         เพียรปฏิบัติ  จนหมดสิ้น  ความสงสัย
ธรรมทั้งหลาย  นั้นใกล้ชิด  อยู่ที่จิตใจ         หมดเชื้อไฟ  ประสบสุข  ทุกประการ

รสพระธรรม
   
ชาวโลกมี  พระต้องจน  อยู่คนละทิศ      ทางบัณฑิต  ท่านผู้รู้  น้อยผู้ที่จะเห็น
บวชเป็นพระ  หมดความมี  ความดีก็เด่น      ผู้บำเพ็ญ  เพ่งพินิจ  จิตเป็นธรรม
บวชสละทรัพย์  แล้วกลับมี  ไม่ดีแท้         โลกเปลี่ยนแปร  ความรุ่งเรือง  เป็นเรื่องขำ
พระพุทธองค์  ทรงบัญญัติ  ข้อปฏิบัติธรรม      ให้บริกรรม  ละความชั่ว  ไม่กลัวจน
ละความมี  หนีความจน  จึงพ้นทุกข์         จึงเป็นสุข  คงที่  มีเหตุผล
หมดสุข  หมดทุกข์  รู้ด้วยใจ  ภายในตน      หมดกังวล  ปราศจากทุกข์  สุขสำราญ
ไม่หมดมี  ไม่หมดจน  ไม่พ้นทุกข์         ติดความสุข  อยู่ในร่าง  ของสังขาร
ยังหลงรัก  ต้องปรักตม  กันนมนาน         รสมันหวาน  เรื่องสวยงาม  กามารมณ์
ผู้ละกาม  ปฏิบัติ  ตามพุทธพจน์         ย่อมรู้รส  มีมากหลาย  ที่ไม่ใช่ขนม
รสพระธรรม  ใครได้ดื่ม  จิตชื่นชม         กามารมณ์  ทั้งหลาย  เทียบไม่ได้เลย

รสความอิ่ม  เมื่อไม่ชิม  ก็ไม่รู้         จึงไม่เชื่อ  พระบรมครู  ผู้เปิดเผย
ผู้รู้รส  หมดความเขลา  เขาชมเชย         อยากเปิดเผย  สัจจธรรม  ชักนำชน
อริยสัจ   พระท่านตรัส  ไว้เป็นหลัก          หนทางมรรค  ประกาศไว้  ไม่ใช่ถนน
ชี้หนทาง  เพ่งจิตใจ  ภายในตน         ตรวจเล่ห์กล  ของจิต  ที่ติดกาย
กลของจิต  ไม่เพ่งพินิจ  ก็ไม่รู้         ยังหลงอยู่  ในรูปนาม  กามทั้งหลาย
หลงเพลิดเพลิน  ว่าเป็นสุข  สนุกสบาย         น่าละอาย  เกิดเป็นคน  จนปัญญา
ตัวกับตน  เป็นภาพยนตร์  หลอกลวงโลก      ต้องเศร้าโศก  รักใคร่  เสน่หา
พอสิ้นลม  น่าสลด  หมดราคา         หมดวาสนา  หมดลวดลาย  กลายเป็นดิน

ยามมีลม  ชวนกันชม  ว่ารูปสวย         ทั้งร่ำรวย  เครื่องประดับ  และทรัพย์สิน
พอสิ้นลม  หมดลวดลาย  กลายเป็นดิน      หมดทรัพย์สิน  หมดญาติมิตร  เคยติดพัน
จิตก็รู้  ใจก็รู้  ดูไม่เห็น            ยังตื่นเต้น  หลงใหล  อยู่ในขันธ์
ด้วยอำนาจ  ความเห็นผิด  จิตผูกพัน         เพราะร่างขันธ์  ภายนอก  หลอกคนเป็น
ผีภายนอก  ไม่เห็นตัว  กลัวกันมาก         อสุภซาก  อยู่ภายใน  ไม่ใคร่เห็น
ทั้งผีสาง  อยู่ในร่าง  ของคนเป็น         ถ้าใครเห็น  จะประสบ  พบหนทาง
พระบรมครู  ให้พิจารณา  ดูในกาย         เพื่อทำลาย  ความเห็นผิด  จิตสว่าง
รีบกำจัด  ตัวกามฉันท์  เครื่องกั้นกาง         พบหนทาง  ภายในตน  ทุกคนเอย


เรียนรู้รสธรรม
   
เรียนธรรมรู้ธรรมจำภาษิต         ไม่เพ่งพินิจภายในกายไม่ได้ผล
รู้รสธรรมต่อเมื่อนำมาฝึกตน            พระทศพลท่านตรัสปัจจัตตัง
   
เรียนแล้วไม่ทำจำแล้วไม่ท่องของมีค่า      รู้วิชารู้มากหลายไม่ได้ผล
รู้แล้วทำตามพุทธพจน์หมดความจน         มีอริยทรัพย์อยู่ในตนคนบูชา
   
นอนเป็นสุขต้องเป็นทุกข์ด้วยความอยาก   น้อยหรือมากมีทุกยุคสมัย
เมื่ออยากมากทุกข์ก็มากจูงลากไป         เพราะจิตใจเขาไม่กลัวตัวนิวรณ์
   
ความอยากตื่นจิตชุ่มชื่นด้วยความสุข      ปราศจากความสนุกสุขตัณหา
เบื่อรักชังชอบแต่นั่งภาวนา            เพียรเพ่งพิจารณารักษาใจ
   
ประเพณีของโลกไปตามโชคของบุญกรรม   ประเพณีของธรรมต้องบริกรรมภาวนา
อานิสงส์ของธรรมผู้ใดบริกรรมผู้นั้นเห็น      ผู้ใดเพียรบำเพ็ญผู้นั้นเห็นเฉพาะตน
   
เมื่อไม่เห็นโทษก็ไม่เห็นคุณ         เมื่อไม่เห็นบุญก็ไม่เห็นธรรม
ผู้ที่ทำความชั่วเพราะไม่กลัวกรรม         ผู้ไม่บำเพ็ญธรรมเพราะจิตไม่ศรัทธา

   
บุญมี      บาปมี      ความดี      ควรทำ
   
เมื่อเชื่อบุญ   เชื่อกรรม      ควรทำ      ความดี

ธรรมทั้งหลาย  อยู่ไม่ใกล้  ไม่ไกล
   
พุทธภาษิต      เพียงข้อเดียว      ทั้งเปรี้ยวทั้งเผ็ด
ผู้ใจเด็ด            ย่อมเห็นธรรม      คำสั่งสอน
หมั่นเพียรเพ่ง         พิจารณา         อย่าให้ขาดตอน
ยอมถอดถอน         ลิ่มสลัก         ปักดวงใจ
ศรัทธาจริง         เมื่อเพ่งดิ่ง      อยู่ในร่าง
เจอะหนทาง         หมดสิ้น         ความสงสัย
ธรรมทั้งหลาย         อยู่ไม่ใกล้         แต่ไม่ไกล
จิตกับใจ            เป็นผู้รู้         อยู่ในตน
ผู้บำเพ็ญ            ใคร่อยากเห็น      ต้องเชื่อพระ
ตัดราคะ            พุทธโอวาท      ประกาศผล
ทางสบาย         คลายกำหนัด      ตัดกังวล
ไม่อดทน            ไม่ต้องทุกข์      สุขสบาย


กรรมฐานห้า
   
พวกหนุ่มสาว      ไว้ผมยาว         ดูน่ารัก
มองดูพักตร์         ทั้งผิวพรรณ      ทันสมัย
ของปฏิกูล         พอกพูน         อยู่ภายใน
ลุกเป็นไฟ         เผาคนเป็น      ไม่เห็นควัน
ผิวภายนอก           ดูสดใส         ภายในเน่า
ทั้งหนุ่มสาว         ตายแล้วพอง      ต้องเป็นหมัน
หมดคุณค่า         ความสวยสด      รสหวานมัน
มองเห็นขันธ์         นึกสมเพช      เกิดเมตตา
ผู้ประมาท         ต้องเป็นทาส      ของเลือดเนื้อ
ไม่ยอมเบื่อ         เพราะไม่เชื่อ      พระศาสนา
ผมขนเล็บ         ฟันหนัง         กำบังตา
ไม่ภาวนา         ไม่บำเพ็ญ      ไม่เห็นเลย


ธรรมโอสถ  รสพระธรรม  คือความเค็ม
   
ธรรมโอสถ  รสพระธรรม  คือความเค็ม      ด้ายตามเข็ม  ก็ได้ตาม  ความประสงค์
จิตที่คด  ปฏิบัติ  ดัดให้ตรง            จิตดำรง  อยู่ในธรรม  พระสัมมา
จิตเป็นธรรม  ตรงตามคำ  พระท่านตรัส      เห็นได้ชัด  คำสอน  พระศาสนา
ธรรมยอดยิ่ง  ให้ผลจริง  เห็นทันตา         ผู้ศรัทธา  รู้ด้วยใจ  ภายในตน
จิตประมาท  ตกเป็นทาส  อยู่ในโลก         ไม่มีโชค  ที่จะสร้าง  ทางมรรคผล
ไม่ฝึกจิต  เมื่อชีวิต  ยังเป็นคน         ไม่มีทาง  จะหลุดพ้น  จากความตาย
ทางไม่ตาย  พระตรัสไว้  น้อยคนเชื่อ         ผู้ทานเกลือ  ไม่รู้รส  หมดความหมาย
รสของเกลือ  เกิดความเชื่อ  เมื่อจิตคลาย      เห็นในกาย  หลุดจากกาม  เพราะความเค็ม
รสทุกรส  ผลปรากฏ  ผู้ที่เชื่อ            จิตไม่เบื่อ  พยายาม  เดินตามเข็ม
เดินตามรอย  พุทธพจน์  รู้รสเค็ม         เมื่อบุญเต็ม  ไม่ต้องเติม  เสริมศรัทธา

เพียงมองดู  ยังไม่รู้  รสของเกลือ         จึงไม่เชื่อ  คำสอน  พระศาสนา
ศึกษาธรรม  เรียนท่องจำ  ตามตำรา         ชอบยาทา  ไม่ชอบทาน  รำคาญรส
รสพระธรรม  เปรียบเหมือนน้ำ  มหาสมุทร      ใสบริสุทธิ์  เป็นธรรม  โอสถ
ธรรมทั้งหลาย  ไม่เสื่อมคลาย  ไปจากรส      ผลปรากฏ  รู้ด้วยตน  ทุกคนเอย
หมายเหตุ ความเค็มคือความจริง

   
ผู้ที่อยากรู้  แต่ก็ไม่อยากทำ         ปรุงอาหาร อยู่ประจำ แต่ก็ไม่อยากทาน
ผู้ต้องการทรัพย์มากๆ แต่ไม่อยากทำงาน      ผู้อยากไปนิพพาน แต่ขี้เกียจภาวนา

สังขารธรรม
ผู้ที่ประเสริฐ  เกิดจาก  การเห็นธรรม         จิตผู้นั้นไม่ตกต่ำ  เพราะพระธรรม  เป็นของประเสริฐ
ผู้ประเสริฐ  ใครได้ประสบ  เหมือนพบทรัพย์      เครื่องประดับ  ยอดยิ่ง  สิ่งทั้งหลาย
เพียงแต่ได้เห็น  เย็นทั้งตัว  ทั่วทั้งกาย         ยิ่งกว่าได้  สินทรัพย์  นับอนันต์
ผู้ที่ได้เห็น  พระตถาคต  หมดความทุกข์      ประสบสุข  เที่ยงแท้  ไม่แปรผัน
สว่างไสว  ดวงใจ  เหมือนดวงจันทร์         ทุกคืนทุกวัน  ประสบสุข  ทุกเวลา
ผิวร่างกาย  ภายนอก  หลอกคนเป็น         ตามองเห็น  ว่าประเสริฐ  เกิดตัณหา
จิตใจหลงใหล  เกิดจากไฟ  ภายในตา         เมื่อพิจารณา  ตามพุทธพจน์  หมดรำคาญ

ผู้ปฏิบัติ  เชื่อคำตรัส  พระตถาคต         จิตละพยศ  แจ้งประจักษ์  มีหลักฐาน
พระพุทธวาจา  มีคุณค่า  ไม่มีประมาณ      ผู้ต้องการ  เพียรบำเพ็ญ  เห็นความจริง
พระพุทธบัญญัติ  เป็นสมบัติ  อันล้ำค่า      ผู้ศรัทธา  เชิญดูได้  ทั้งชายหญิง
ผู้ประเสริฐ  เลิศลือนาม  เพราะความจริง      ธรรมยอดยิ่ง  พระบรมครู  รู้ด้วยใจ
เพียรเพ่งดู  อยู่ประจำ  ธรรมปรากฏ         เห็นพระตถาคต  หมดสิ้น  ความสงสัย
ร่างกายจริง  พระบรมครู  อยู่ภายใน         ทันสมัย  จนสลาย  ไม่เปลี่ยนแปลง
ผู้ที่เห็น  พระพุทธองค์  จิตคงที่         เมื่อไม่ชั่ว  ก็ไม่ดี  ไม่มีแสง
อยู่เป็นคน  ไม่มีค่า  ราคาแพง         แก่ไม่มีแรง  ยังไม่วายชนม์  คนบูชา
การให้พระ  หลวงปู่  อยู่นานนาน         แต่ชีวิต  ของสังขาร  หมดปัญหา
ต่ออายุ  ให้ยืนยง  จงเมตตา            ร่างชรา  น่าสลด  หมดกำลัง
ดวงตะวัน  ยามตอนบ่าย  ใกล้จะลับ         จะบังคับ  เอาไว้  ไม่มีหวัง
ธรรมทั้งหลาย  ท่านตรัสไว้  ไม่ปิดบัง         เป็นอนิจจัง  ทุกประการ  แหละท่านเอย
คติเตือนตน
   
เราคิดถึงความเจ็บ  เมื่อยามสบาย      เราคิดถึงความตาย  เมื่อยังมีชีวิตอยู่
อย่าได้ประมาทเชื่อโอวาท  พระบรมครู         เมื่อชีวิตของเรา  ยังมีอยู่
เราควรจะรู้เรื่อง  ความตาย            คนดีตายดี  คนชั่วตายชั่ว
จิตใจอยู่ในตัว  แต่มองไม่เห็น         ท่านผู้ใดฝึกจิต  เมื่อชีวิตยังเป็น
เพียรหมั่นบำเพ็ญ  ผู้นั้นจะเห็นความตาย      เมื่อไม่รู้จักเหตุ  ก็ไม่รู้จักผล
เมื่อไม่รู้จักต้น  ก็ไม่รู้จักปลาย         เมื่อไม่รู้จักจิต  ผู้นั้นก็ไม่รู้จักกาย
เมื่อไม่รู้จักตาย  ก็ไม่รู้จักเป็น            ผู้ใดรู้จักตาย  ผู้นั้นก็รู้จักเป็น
ของหอมของเหม็น  ก็ไม่มีความหมาย         จิตใจคงที่  ไม่ยินดีไม่ยินร้าย
เป็นสุขสบาย  เพราะรู้จักตายเมื่อยังเป็น      หมอกมลตายดี  ตายมีตบะ
ยกมือไหว้พระ  เมื่อดวงตายังเห็น         ได้เจอพระ  เมื่อยามตาย
ได้ไหว้พระ  เมื่อยามเป็น            ตายอย่างใจเย็น  ผู้บำเพ็ญภาวนา
ไม่มีการกระวนกระวาย  ร่างกายปกติ         จิตเป็นสมาธิ  สมความปรารถนา
ตายแบบบัณฑิต  ผู้มีจิตศรัทธา         เคยฝึกจิตตั้งสัจจะ  นั่งหลับตาอดทน
ถือยืนเดินนั่ง  ไม่เอาหลังแตะพื้น         ทั้งกลางวันกลางคืน  เป็นยอดบุญยอดกุศล
สองเดือนสองวัน  เพียรหมั่นอดทน         ตามคำสอนพระทศพล  เพื่อฝึกตนฝึกนิสัย
เมื่อชีวิตก่อนจะตาย  ต้องฝึกกายฝึกใจ         เมื่อล่วงลับไป  อุปนิสัยติดตาม
ต่อไปได้พบ  พระรัตนะทั้งสาม         บุญกุศลติดตาม  ผู้พยายามฝึกตน
เปรียบเหมือนเงาติดตัว  สร้างความชั่วเป็นทุกข์      สร้างความดีเป็นสุข  ไปตามเหตุตามผล
ผู้รู้ตามเห็นตาม ควรพยายามฝึกตน         ตามคำสอนพระทศพล  แบบหมอกมลนั้นเทอญ

สุขที่แท้ไม่แปรผันนั้นมีจริง
   
ยศคู่ทรัพย์      หลับคู่นอน      ซ่อนความทุกข์
เราว่าสุข            แต่พุทธองค์      ทรงมองเห็น
พุทธองค์            ทรงตรัสไว้      ให้บำเพ็ญ
จงละเว้น            สุขทั้งสี่         มีโชคชัย
สุขไม่มี            ทุกข์ไม่มี         ดีประเสริฐ
สว่างไม่มี            แต่ไม่มืดมิด      จิตผ่องใส
ความบริสุทธิ์         ของมนุษย์      อยู่ที่จิตใจ
รีบฝักใฝ่            ฝึกฝนจิต         เป็นมิตรตน
จงตั้งจิต            เพ่งพินิจ         ภายในร่าง
จะพบทาง         ที่สบาย         ไม่ไร้ผล
เดินตามรอย         พระสุคต         ทศพล
หมั่นอดทน         แบบครู         ต่อสู้มาร
ตั้งสัจจะ            วาจาจริง         สิ่งศักดิ์สิทธิ์
เพ่งพินิจ            อยู่ในธรรม      พระกรรมฐาน
ดิ่งจิตตรง            คงที่         ไม่มีประมาณ
พอชำนาญ         ก็ปรากฏ         รู้รสธรรม

ผู้ไม่ทาน            มองน้ำตาล      ว่าเป็นเกลือ
เขาไม่เชื่อ         ให้ฝืนเคือง      เป็นเรื่องขำ
รสอันเลิศ            เกิดความกลัว      ตัวเป็นกรรม
เมื่อพบธรรม         ไม่ศรัทธา         น่าเสียดาย
ผู้บำเพ็ญ            ภาวนา         เมตตาจิต
เห็นญาติมิตร         ยังตกยาก      อยู่มากหลาย
เขียนเป็น            ภาษิตธรรม      คำบรรยาย
เมื่อจำได้            รีบฝึกตน         ทุกคนเทอญ

โศลกธรรม-คำคม
   
ท่านผู้ใดเห็นธรรม      ท่านผู้นั้น         เป็นผู้ประเสริฐ
ท่านผู้ใดรู้เหตุของความเกิด      ท่านผู้นั้น         รู้เหตุของความดับ
ยังไม่รู้เรื่องของความเกิด      ก็ไม่รู้เรื่อง      ของความดับ
ยังไม่รู้เรื่องของความหลับ      ก็ไม่รู้เรื่อง      ของความตื่น

ต้นคือความรัก         ปลายคือ         ความชัง
เห็นแต่ต้น         ไม่เห็นปลาย      ไม่พ้นทุกข์
เพราะความสุข         ยังมีอยู่         เป็นคู่สอง
สุขโลกุตร            จิตคงที่         สุขโลกีย์มีคู่ครอง
สุขทั้งสอง         รู้ได้ชัด         ปัจจัตตัง

      
ไม่มีลม         ก็ไม่มีไฟ
      
ไม่มีการไป      ก็ไม่มีการมา
      
ไม่มีน้ำ         ก็ไม่มีปลา
      
ไม่มีศาสนา      ก็ไม่มีศีลธรรม

         
ไม่มีเหตุ         ไม่มีผล
         
ไม่มีต้น         ไม่มีปลาย
         
ไม่มีเกิด         ไม่มีตาย
         
ไม่มีคลาย      ไม่มีหลุดพ้น
     
      
ผู้ชายเป็นไฟ         ผู้หญิงเป็นเชื้อ
      
ผู้ชายเป็นเรือ         ผู้หญิงเป็นน้ำ
      
ไม่มีน้ำ            ก็ไม่มีเรือ
      
ไม่มีเชื้อ            ก็ไม่มีไฟ
      
ไม่มีเรือ            ก็ไม่มีน้ำ
      
ไม่มีกาม            ก็ไม่มีเกิด  
      
ไม่มีสว่าง            ก็ไม่มีมืด
      
ที่ไม่มีเกิด         เพราะไม่มีกาม

      
คนยาก  คนจน         อยากมั่ง  อยากมี
      
คนที่ไม่ดี            อยากเป็นเจ้าเป็นนาย
      
คนที่มีจิตใจอัปรีย์         ไม่มีความละอาย
      
คนที่ฉิบหาย         ไม่ชอบสร้างความดี

      
หนึ่งเมาทรัพย์      สองเมากาม      สามเมานอน
      
เป็นนิวรณ์      เครื่องกั้นกาง      ทางมรรคผล

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

โปรดแสดงความคิดเห็นด้วยเมตตาธรรม

บทความที่ได้รับความนิยม