วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รวมคำกลอนหลวงปู่เปลื้อง ปัญญวันโต (ฉบับสมบูรณ์) ๑ ตอนคำนำ

จะขอนำ คำกลอน หลวงปู่เปลื้อง
นามกระเดือง เลื่องลือ จากปักษ์ใต้
บวชเมื่อคราว วัยหกสิบ อบรมใจ
ถือสัจจะ ยิ่งใหญ่ ใจเป็นธรรม

        คำนำ

   บัวอาศัยน้ำ   สมณพราหมณ์   อาศัยลาภ   ดาบอาศัยฝัก
บัวไม่ติดน้ำ      สมณพราหมณ์   ไม่ติดลาภ   ดาบไม่ติดฝัก
   
บัวอาศัยน้ำ      แต่ไม่ติดน้ำ      สวยงามนัก
ดาบไม่ติดฝัก         เพราะเหล็กดี      ไม่มีสนิม
พระไม่ติดลาภ         เพราะจิตซาบ      รสความอิ่ม
เมื่อไม่ชิม            ไม่รู้รส         หมดปัญญา
   
บัวติดน้ำ         แม้ยังสด         หมดความสวย
พระติดลาภ         ต้องมอดม้วย      ด้วยตัณหา
ดาบติดฝัก         แม้สูงศักดิ์      หมดราคา
เป็นสมณะ         ไม่ฝึกตน         เป็นมลทิน
   
บัวอาศัยน้ำ      แต่ไม่ติดน้ำ      สวยงามมาก
เป็นนักพรต          หมดความอยาก      จิตผ่องใส
บัวอิ่มน้ำ            พระอิ่มลาภ      ทราบด้วยใจ
รักษาจิต            ให้ผ่องใส         เหมือนใบบัว
   
ผู้บวชตัว         เอาใบบัว         เป็นเครื่องวัด
ละเพศคฤหัสถ์         ครองผ้าเหลือง      เครื่องอาศัย
พร้อมด้วยบาตร         เป็นพุทธบัญญัติ      เป็นปัจจัย
รักษาจิต             ให้ผ่องใส         เหมือนใบบัว
   
ภาษิตของหลวงปู่      ขอห้าม         พิมพ์ขาย
ถ้าพิมพ์งานตาย         อนุญาต         ให้ทุกคน
หรือว่าให้ทาน         เป็นการกุศล
เพื่อเป็นมงคล         หวังผล         ความดี
   
รู้ธรรม         เห็นธรรม         แต่พูดไม่ได้
จิตใจ            บ้าใบ้         เพราะละอายแก่ธรรม
สันทิฎฐิโก         ผู้ที่รู้         พูดไม่ได้
จิตเป็นใบ้         เมื่อพูดไป      ใครไม่เห็น
ผู้ที่รู้            เฉพาะผู้         เพียรบำเพ็ญ
ผู้ที่เห็น            กลับเป็นใบ้      พูดไม่ได้เลย
   
คำถ่ายทอด      ยอดกระทู้      อยู่ปกหลัง
ผู้มุ่งหวัง            ปฏิบัติ         ตัดตัณหา
ยอดภาษิต         หลักฝึกจิต      ผู้ศรัทธา
เพียรเพ่งพิจารณา         ภายในตน      ได้ผลจริง
ผู้ประกาศ         ไม่ประมาท      ฝึกมาแล้ว
จิตผ่องแผ้ว         จะรู้ได้         ทั้งชายหญิง
พุทธพจน์            ผลปรากฏ      ผู้เชื่อจริง
ธรรมยอดยิ่ง         มีในตน         ทุกคนเอย


ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

โปรดแสดงความคิดเห็นด้วยเมตตาธรรม

บทความที่ได้รับความนิยม