วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

บทสรุป: อย่าปลงใจเชื่อ 10 ประการ (เกสปุตตสูตร)

บทสรุป: อย่าปลงใจเชื่อ 10 ประการ (เกสปุตตสูตร)

3 มกราคม 2014 เวลา 20:28 น.
อย่าปลงใจเชื่อ(อย่าได้ยึดถือ) เพราะเหตุเพียง ๑๐ ประการ ..ส่วนใจความสำคัญที่ไม่ค่อยนำมาพูดถึงกันคือ ข้อสรุปสุดท้าย มีว่า

เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า
(1) ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล,
(2) ธรรมเหล่านี้มีโทษ,
(3) ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน,
(4) ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้ บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์
เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย

เมื่อ ใดที่รู้ว่า ธรรมเหล่านี้เป็น (1)กุศล, (2)ไม่มีโทษ, (3)ผู้รู้สรรเสริญ, (4) ยึดถือปฏิบัติตามแล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข
เมื่อนั้นควรเข้าถึงธรรมเหล่านี้อยู่เถิด

ซึ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงยกเหตุแห่งบุคคลผู้โลภ โกรธ หลง ย่อมฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, คบชู้, พูดเท็จ และย่อมชักชวนทำสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นโทษ มีทุกข์ สิ้นกาลนาน ..นี้เป็นเหตุที่ควรละเสีย,

บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ ย่อมชักชวนทำสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไร้โทษ มีสุข สิ้นกาลนาน ..นี้เป็นเหตุที่ควรถือปฏิบัติตาม (ถอดใจความโดยสรุป)

ทรง ตรัสตอนท้ายแก่ชนชาวกาลามะว่า อริยสาวก ผู้ปราศจากโลภ, ไม่พยาบาท, ไม่หลง, มีสติสัมปชัญญ, มีใจประกอบด้วยเมตตา..กรุณา..มุทิตา..อุเบกขา..แผ่ไปตลอดทิศทั้ง ๔ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทั้งปวง อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่..

อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวร ..ไม่มีความเบียดเบียน ..ไม่เศร้าหมอง..มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการ
***ความอุ่นใจ ทั้ง ๔ ข้อคือ...
-๑ #โลกหน้ามีจริง , ผลของกรรมดี-ชั่วมีจริง. #ตายไปก็ไปสู่สุคติ
-๒ ถ้าคิดว่า #โลกหน้าไม่มี, ผลของกรรมดี-ชั่วไม่มี. #เราก็ไม่มีเวร  ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ เป็นสุข รักษาตนอยู่ ในปัจจุบันนี้
-๓ เมื่อบุคคล(อื่น)ทำบาปอยู่ #เราไม่ได้คิดความชั่วให้แก่ใครๆ, #ความทุกข์จักถูกต้องเราผู้ไม่ได้ทำบาป..ได้อย่างไร(สำนวน "ได้อย่างไร" ภาษาบาลีเป็น กุโต แปลว่า แต่ที่ไหนเล่า)
-๔ เมื่อบุคคล(อื่น)ไม่ทำบาป เราก็ได้พิจารณาเห็น ตนว่าเป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วน

ความอุ่นใจ/ความวางใจ/ความเบาใจ..ข้อที่ ๔ ยอมรับตามตรงว่า ยังไม่เข้าใจ แม้ว่าจะไปค้นบาลี ก็ยังงงๆ

บาลีคือ สเจ โข ปน #กโรโต น กรียติ ปาปํ, อิธาหํ อุภเยเนว วิสุทฺธํ อตฺตานํ สมนุปสฺสามีติ อยมสฺส จตุตฺโถ อสฺสาโส อธิคโต โหติฯ

ที่ งงเพราะ #กโรโต แปลว่า เมื่อกระทำ , น กรียติ บาปํ #บาปย่อมชื่อว่าไม่กระทำ (ขัดแย้งในภาษา) ไม่เหมือนกับ ความอุ่นใจข้อที่ ๓ บาลีคือ สเจ โข ปน กโรโต กรียติ ปาปํ แปลว่า ก็แล เมื่อบุคคลทำบาป บาปชื่อว่าอันบุคคลกระทำ (จะไม่ขัดแย้งในภาษา)

เลยคิดว่าน่าจะเป็น #อกโรโต แปลว่า เมื่อไม่กระทำ(ซึ่งบาป), บาปชื่อว่า #อันบุคคลย่อมไม่กระทำ)  ก็ฝากให้วิญญูชนผู้ชำนาญในภาษาพิจารณาเพิ่มเติมความคิดเห็นด้วย เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษา :)

+++อย่าปลงใจเชื่อ 10 ประการคือ

1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา
2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา
3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก
6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน
7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา

เกสปุตตสูตร http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=20&A=4930&Z=5092

http://www.youtube.com/watch?v=34-YnJYYnFE

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

โปรดแสดงความคิดเห็นด้วยเมตตาธรรม

บทความที่ได้รับความนิยม